คลังเก็บหมวดหมู่: ไม่มีหมวดหมู่

ระบบคิว

ก่อนหน้านี้หลายปี ก็เคยเขียนระบบคิวเอาไว้ บน ARM Linux บอร์ดด้วยซ้ำ เริ่มจากเขียนพวกแสดงผลกล้องวงจรปิด มาระบบ digital signage ไปจนระบบ คาราโอเกะ ส่วนใหญ่สนองนี้ดล้วนๆ ไม่ได้เงิน ฮา ก็เลิกราไปนานนน

มาวันนี้มีบริษัทรับออกแบบและผลิต ตู้คีออส ตู้กดบัตรคิว เป็นของตัวเอง นามว่า บางกอกเดฟ แต่ยังไม่มีโปรแกรมระบบคิวเป็นของตัวเองเลย วันก่อนลูกค้ามาถามหา ด้วยงบที่จำกัด อยากได้ทั้ง hardware และ software เราก็เลยไปหาโปรแกรมที่แจกฟรีมาลอง ก็ยังไม่มีเข้าตาสักตัว

ก็เลยนั่งเขียนเองขึ้นมาใหม่ เพราะกลับไปหา sourcecode เดิมไม่เจอเลย เขียนใหม่ก็ต้องใช้ technology ใหม่ๆ อย่างเรื่อง RPC ก็มาใช้ Qt Remote Objects คอนฟิกไฟล์ อ่านค่าเซ็ตติ้งต่างๆ ก็ใช้ json

ตอนนี้ที่ยังเหลืออยู่คือ เสียง text to speech นั่งลอง TTS engine ของ microsft หาเจอแต่เสียงไทย ผู้ชาย ยังไม่ได้ลองว่า รันแบบ offline ได้มั้ย อีกปัญหาที่เจอ คือ อ่านภาษาไทย และ อังกฤษ เช่น “ขอเชิญหมายเลข A0001” ออกเสียง A จะสั้นมากๆ ไม่ออกว่า เอ ไอ้เราก็ยังใหม่กับเรื่องนี้ เลยลังเลว่าจะกลับไปใช้วิธีแบบ old school ทำเสียงไฟล์ขึ้นมาเอง แล้วเล่นที่ละพยางค์มาต่อกันเหมือนสมัยก่อนดีกวามั้ย เพราะระบบคิว มันก็มีอยู่แค่ไม่กี่คำ

ก็ต้องกลับไปลองหา libaray เล่นไฟล์เสียง ที่มัน low latency แบบคราวก่อน ดูอีกที

คีออส เคออส 2023

เพิ่งได้กลับมาดูว่า ตัวเองไม่ได้เขียนอะไรลงบล็อกเลยมาเป็นปีๆละ เนื่องด้วยโควิด ทำให้ต้องเปลี่ยนแผนชีวิต แผนธุรกิจ เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ จากนั้นมาก็เลยยุ่งๆกับงานผลิตตู้คีออส จริงๆถ้าจะเรียกเต็มๆก็ต้องบอกว่าเป็นเครื่องให้บริการอัตโนมัติเนอะ เพราะเรียกคีออส ก็จะเข้าใจไปว่า เป็นคีออส ที่เป็นซุ้ม เป็นเคาท์เตอร์สำหรับขายสินค้าไป

ส่วนตัวอายุก็ค่อนข้างเยอะแล้ว ไม่ได้อยากจะเยอะ แต่รู้เลยว่าสังขารไม่เหมือนก่อน มีอะไรที่อยากจะเล่น จะทำอีกหลายอย่าง แต่ปัจจัยที่จำเป็นหลายๆอย่างมันลดลงไป สวนทางกับความอยาก

มาปีนี้ปีสุดท้าย ปีหน้าจะขึ้นเลข 5 ละ โลกเริ่มมาทาง ai จริงๆเราก็เริ่มเตรียมตัวก่อนใครนะ แต่รู้สึกว่าจะกลายเป็นเต่าไปละ ตามไม่ทัน อย่างเรื่อง chat GPT ก็ยังไม่เคยได้ลองเล่นจริงจังกับเค้าเลย

เรื่องหุ่นยนต์อัตโนมัติ เดี๋ยวนี้ก็ไปไกลกว่าการใช้ล้อละ มีทั้งเดิน 2 ขา 4 ขา หลายขา รวมถึงการนำทาง เรื่อง vision ไปจนถึง lidar

ในเรื่องของ smart farming ก็นั่งดูและทดลองสั่งเซ็นเซอร์ต่างๆ มา รวมถึงสินค้าที่เคยขายดีอย่าง weather station ตอนนี้ก็เงียบๆไป เนื่องด้วยเพราะผมเงียบๆไปด้วยแหละ ไม่ได้เขียนบล็อกเขียนอะไรมากระตุ้นยอดขายให้ร้านเลย

แต่มาครึ่งปีหลังนี้ วันนี้เป็นช่วงที่ได้พักหน่อย เนื่องจากประกอบตู้จนข้อมืออักเสบ (ถึงได้บอกว่า หลายอย่างมันเสื่อม มันถดถอยลดลงไป ไม่เอื้ออำนวยเท่าเก่า) ประกอบเริ่มคิดถึงความฝัน การมีชีวิตในช่วงสูงวัย ก็ต้องเริ่มเตรียมตัวละ เพราะที่ผ่านมาใช้ชีวิตอย่างเดียว ไม่มีสะสมไว้ ตอนนี้ก็คงต้องถึงเวลา เพื่อใช้ชีวิตอีกสัก 20 ปีที่เหลืออย่างมีความสุขแบบพอเพียง

พอพิมพ์มาถึงตรงนี้ ก็ได้ไอเดียโปรเจ็คกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ละ ฮ่าๆ ขอไปเตรียมของก่อน

smart card reader

ว่าด้วยเรื่องของ smart card reader แบบบัตร EMV เจาะจงลงไปที่ใช้ interface แบบ USB port ด้วย

เคยเขียนโปรแกรมอ่านบัตรประชาชนผ่านเครื่องอ่านแบบ USB บน Windows มาเมื่อหลายปีก่อน ถึงแม้จะใช้ Linux มาอย่างยาวนาน แต่ก็ไม่เคยพอร์ทโค้ดมาลงสักที เนื่องจากไม่เคยมีลูกค้า request มาเลย จนกระทั่งช่วงนี้ ทาง บางกอกเดฟ ได้ทำการขึ้นโมเดลตู้คีออสใหม่ และ ใช้จอ open frame แบบ all-in-one โดยได้ built-in บอร์ดคอมพิวเตอร์เข้าไปด้วย สามารถเลือกได้ทั้ง PC และ Android

เมื่อทำตู้บัตรคิวด้วย Android ได้แบบนี้แล้ว ก็เลยเกิดสงสัยขึ้นมาว่า แล้วจะให้มันอ่านบัตรประชาชนได้ยังงัย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความปวดหัวเรื่องใหม่ จะค่อยๆเหลาให้ฟัง

บน Windows มีไลบราลี่ชื่อ winscard เอาไว้จัดการกับการอ่านบัตร smart card ส่วนบน Linux ก็มีโมดูลที่แทบจะ compatible กับ winscard เลย ชื่อ pcsc (คือมันมีส่วนที่เป็น daemon และ lib สำหรับการทำงาน) ผมก็ลอง port โปรแกรมที่เคยรันบน windows มาทำให้รันบนลินุกส์ได้ ก็ไม่ยากเย็นเท่าใดนัก จากนั้นจึงมาลองศึกษาหาวิธีการเพื่อให้สามารถอ่านบัตรประชาชนด้วยเครื่องอ่านที่มี interface แบบ USB ได้บน Android ดูบ้าง

โดยเริ่มจากวิธีคิดว่า แอนดรอยด์ มันก็คือลินุกส์ น่ะแหละ มันต้องใช้วิธีการคล้ายๆกัน ก็เริ่มไล่ไปจาก interface ก่อนคือ USB อันนี้ผมยังยึดการเขียนโปรแกรมด้วย Qt/C++ ไว้นะ เมื่อลองดู dependencies ของ pcsc ก็จะพบว่ามันใช้ libUSB ด้วย CCID ด้วยรึป่าว ยังไม่แน่ใจ ก็เลยเริ่มด้วยการคอมไพล์ libUSB ก่อนเลย

ผมเป็น android dev มือใหม่ คือว่า ถึงแม้จะเขียนมาหลายที แต่ห่างกันหลายปีจะเขียนสักครั้ง ก็ลืมหมดทุกสิ่งอย่าง เหมือนมาเริ่มต้นใหม่น่ะแหละ ก็ต้องทำการ set up dev env กันใหม่ โดยเฉพาะ NDK ส่วน SDK ก็ได้ตัวช่วยคือ Qt Creator ในการเลือกลงแพคเกจเวอร์ชั่นต่างๆ

ปัญหาคือ pcsc นี่ละ ที่มีทั้ง lib และ deamon จะคอมไพล์ออกมาอย่างไร คอมไพล์ออกมาแล้วจะรันอย่างไร ตรงนี้เสียเวลาไปหลายวันในการหยิบจับโค้ดที่เค้าเคยทำๆกันมาแล้วมาลอง แต่ก็น่าประหลาดใจว่า มันเป็นเรื่องเก่ามาตั้งแต่ 8-9 ปีที่แล้วนู่นเลย ทำให้ประสบปัญหาการคอมไพล์มาก เพราะจาก android 7 มันก็เปลี่ยนเครื่องมือในการคอมไพล์และสร้างแพคเกจไปหมดเลย ไม่รวมถึง lib ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย ไม่ compat กับของเดิม ก็นั่งมั่วนิ่มจนคอมไพล์ผ่านมาได้ จนมาติดกับการสร้าง apk ก็เลยท้อใจ หยุดไว้ก่อน ลองมาหาวิธีอื่นดูบ้าง

จากที่ลองหาข้อมูลดู ก็อาจจะต้อง เขียนขึ้นมาเองใหม่หมด โดยไม่ใช้ pcsc แต่ใช้การรับส่งข้อมูลโดยมองมันเป็น USB device ไปเลย โดยต้องใช้การหา file description หรือ file handle ของ USB deivce ตัวนี้ให้ได้ซะก่อน ตรงนี้อาจจะต้องเขียนด้วย Java แล้วค่อยส่งมาให้โค้ด C++ ต่อ อันนี้ก็เพื่อไม่ต้องเปลี่ยนโค้ด UI ที่เขียนด้วย QML ไว้แล้ว

วิธีนี้ง่ายในการทำงานเพราะใช้ tool เวอร์ชั่นปัจจุบันทั้งหมด แต่ในการเขียนโค้ด ก็ยังไม่รู้จะไปได้จนสุดทางไหม เดี๋ยวถ้ามีอัพเดต ก็จะมาต่อในตอนต่อๆไป

webRTC

สำหรับการทำ streaming

จากคราวที่แล้วที่ลองเล่น openHAB ก็เกิดสงสัยขึ้นมาว่า ถ้าเราต้องการเพิ่มอุปกรณ์ที่เป็นกล้องเข้าไปจะต้องทำยังงัย เพิ่มกล้องที่ใช้ๆกันทั่วไป อย่าง xiaomi ได้มั้ย หรือ ถ้าจะทำขึ้นมาเองจาก raspberry pi zero ละ ทำได้หรือเปล่า ก็เลยต้องมานั่งค้นหาข้อมูลและทดลองทำกันดู

หาข้อมูลในเน็ตไปเรื่อยๆ ก็พบว่า มีคนตั้งคำถามนี้เยอะ พาให้ไปเห็นว่าเค้าจะทำเพื่ออะไรกันบ้าง ก็น่าสนุกดี อย่าง 2 อันนี้

https://stackoverflow.com/questions/29830728/streaming-video-of-wifi-access-point-camera-to-a-remote-computer

ในโจทย์เดิม ก็มีวิธีทำแบบอื่นๆ อย่างเช่น ใช้ tinc VPN โดยอาศัย VPS หรือ cloud server เป็นตัวกลาง อันนี้ก็น่าสนใจ แต่เราจะลองวิธีที่น่าสนใจที่สุดอันนึง ก็คือ webRTC เริ่มด้วย

ลง janus บน VPS เนื่องจากเราต้องการเข้าถึงกล้องได้จากทุกที่ผ่านอินเตอร์เน็ต
ทำ reverse proxy ด้วย nignx
ทำ SSL ให้ nginx ด้วย certbot ลง package ได้เลย ง่ายๆ

ทดลองเล่น janus ดูแล้ว ต่อไป ก็ทำ POC ทำให้กล้อง IP camera ดูผ่านเน็ตได้

ผมต้องการทำ rasberry pi zero ที่เคยต่อกล้องเป็น wifi ip camera เดิม ให้ดูผ่านเน็ตได้ ด้วย Janus (เพื่อความง่าย เพราะยังไม่ต้องลงมือเขียนโปรแกรมอะไร)

ก็เริ่มด้วยการลงแพคเกจต่างๆของ UV4L ที่ทำให้มันรองรับ webRTC ด้วย

หลังจากนั้น ก็มาเซ็ตให้มันรู้จัก Janus แล้วก็ บิงโก!!! ด้วยหลักการของ webRTC มันไม่ควรจะใช้แบนด์วิธของ เครื่องที่ลง Janus (ในที่นี้คือ VPS) มาก แล้วเท่าที่ดูกราฟ traffic ที่เกิดขึ้น ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เย้ ทีนี้ก็ไม่ต้องยุ่งยาก เวลาติดกล้องแล้วส่งสตรีมด้วย sim 3G/4G หรือ ผ่าน wifi ในสถานที่ห่างไกลละ

มาทำ smart home ด้วย openHAB กัน

วันนี้ผม กับ IoT e-shop จะมารีวิว การควบคุมการเปิดปิดหลอดไฟภายในบ้าน ผ่านแอพบนมือถือกัน สั้นๆก็ว่ากันแบบนี้ ยาวอีกหน่อยก็คือ มาลองเล่น openHAB และ tasmota เพื่อทำระบบ smart home กันครับ

เริ่มแรกเลย เรามาดูกันว่า ในการที่จะทำแบบนั้นได้ เราต้องการอะไรบ้าง
1. platform สำหรับควบคุมการเปิดปิดอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน (ขอให้มีเน็ต) ผ่านแอพบนมือถือ โดย platform ที่เราจะนำมาใช้ ชื่อ openHAB โดยเราจะทำการลงระบบบน VPS
สำหรับใครที่ไม่มี หรือไม่ได้เช่า VPS เอาไว้ ก็สามารถลงแบบ local ได้ สามารถลงได้ทั้งบน pc และ raspberry pi
2. smart switch หรือ อุปกรณ์ที่ทำให้เราสามารถสั่งเปิดปิดหลอดไฟได้ ในที่นี้เราก็จะใช้ ESP8266 + relay
โดย protocol ที่ทำให้ทั้งสองอันมาเชื่อมต่อกันได้ ก็คือ Mosquitto เช่นเคย นั่นเอง

การลง openHAB
รายละเอียดขั้นตอนในการลง openHAB บนระบบต่างๆ สามารถดูได้จาก document บนเว็บไซต์ของ openHAB
ในคราวนี้ผมจะลงบน Linux Ubuntu ก็แนะนำให้ทำตามนี้เลยครับ
https://www.openhab.org/docs/installation/linux.html
โดยขั้นตอนแรก ควรจะเช็ค JVM ว่าใช้งานเวอร์ชั่นอะไรอยู่ แต่โดยปกติก็ต้องลงใหม่ละครับ openHAB ต้องการเวอร์ชั่น 11 และแนะนำให้ลงจาก Azul Zulu ตามลิ้งนี้
https://docs.azul.com/core/zulu-openjdk/install/debian
หลังจากนั้นค่อยลง openHAB ตามลิ้งด้านบน

การลง MQTT broker
เนื่องจาก เราจะใช้งาน MQTT ในการควบคุมอุปกรณ์ของเรา ดังนั้นจึงต้องทำการลง MQTT broker ก่อน ในตอนนี้เราจะยังไม่ไปเซ็ตค่าอะไรให้ยุ่งยาก เช่น user/password หรือ secure channel
รายละเอียด ดูได้จาก https://www.digitalocean.com/community/tutorials/how-to-install-and-secure-the-mosquitto-mqtt-messaging-broker-on-ubuntu-18-04

เมื่อทำการลง MQTT broker แล้ว เราก็จะสามารถลง add-on MQTT broker ใน openHAB ได้ละ โดย ทำตามนี้ https://community.openhab.org/t/oh3-mqtt-setup-and-configuration/111494

หลังจากนั้น เราก็เริ่มที่จะสามารถ เพิ่มอุปกรณ์ของเราได้ละ โดยในการนี้ เราจะทดลองเพิ่มอุปกรณ์เป็น MQTT device โดยใช้ ESP8266 ไปควบคุมการเปิดปิดของรีเลย์ ซึ่งในตอนสุดท้ายเราจะต่อรีเลย์เข้ากับโคมไฟ เพื่อทดลองควบคุมการเปิดปิดดู

ในขั้นตอนนี้ เริ่มต้นด้วย การอัพโหลด firmware ที่ชื่อ tasmota เข้าไปใน ESP8266
https://tasmota.github.io/docs/
คราวนี้ผมใช้บอร์ด NodeMCU รุ่นเก่าๆนี่ละ เอามาเล่น โดยจากภาพจะเห็นได้ว่า ผมจ่ายไฟและต่อ serial port ผ่านทาง port USB ของมัน ซึ่งทำให้ง่ายต่อการ flash image ไฟล์ .bin ด้วยโปรแกรม ที่ชื่อ tasmotizer


เมื่อทำการ flash แล้ว เราจะสามารถหา WIFI SSID ของบอร์ด เพื่อเชื่อมต่อเข้าไปทำการคอนฟิกค่าเครือข่าย SSID ที่เราจะให้ ESP8266 ไปเกาะได้ ซึ่งก็คือเน็ตบ้านของเรานั่นเอง หลังจากนั้น เราก็จะสามารถเข้าถึง web UI ของบอร์ดนี้ได้จากเครือข่ายปกติละ


ขั้นต่อมา คือการ config module เมื่อเลือกเข้าไปแล้ว เราจะสามารถทำการกำหนดว่า เราจะใช้ pin ไหนเป็น input หรือ output ในที่นี้ ผมเล่นง่ายๆก่อนๆ กำหนดให้มันเป็น SONOFF BASIC ใช้ขา GPIO1 เพื่อควบคุมรีเลย์ 1 ตัว
ต่อมาก็ทำการกำหนดค่า config MQTT โดยที่เราต้องสนใจก็คือ ค่า host และ topic
โดย host ก็คือ URL หรือ IP ของเครื่องที่ลง MQTT broker
และ topic คือหัวข้อที่เรากำหนดขึ้นสำหรับการควบคุมรีเลย์

เมื่อทำการบันทึกค่าเรียบร้อยแล้ว เราสามารถทดลองสั่ง toggle เปลี่ยนค่า เพื่อทำการ on/off รีเลย์ดูได้ ถ้าถูกต้อง รีเลย์ก็จะเปิด/ปิด สลับกันไปในแต่ละครั้งที่เรากด toggle

เมื่อกำหนดค่าอุปกรณ์เรียบร้อย ก็กลับมาฝั่ง openHAB เราจะทำการ bniding โดยการสร้าง generic MQTT Thing ขึ้นมา โดยค่าที่สำคัญที่ต้องกำหนด คือ ผูก broker ที่เราสร้างไว้ข้างต้น และกำหนด topic ให้ตรงกับอุปกรณ์ตรงค่า Availability Topic โดยปกติจะเซ็ตเป็น tele/<TOPIC>/LWT
หากทำถูกต้อง เราจะเห็นสถานะ เป็น online ทั้ง Thing และ broker
ต่อมาเราจะทำการสร้าง channel ขึ้นเพื่อควบคุม relay โดยเลือกไปที่ tab Add Channel เลือก type เป็น on/off switch ตั้งชื่อเป็น power และทำการกำหนดค่าต่างๆให้ topic รายละเอียดขั้นตอนให้ดูได้จากลิ้งนี้ครับ
https://community.openhab.org/t/oh3-tasmota-relay-via-mqtt-sonoff-basic-with-optional-dht22/111485
ขึ้นตอนต่อไปก็คือ การ add equipment to model ในขึ้นตอนนี้ ถ้าไม่มีการเซ็ตโมเดลมาก่อน ก็ไม่เป็นไรครับ มันก็จะเป็น NULL ไป ให้เราไปเซ็ตค่าอื่นๆ เช่น ชื่อ, label, type, category และ class ให้เรียบถูกต้องเรียบร้อย โดยผมจะเลือก type เป็น switch lightbulb หลังจากนั้นก็ทำการผูกเข้ากับ channel ที่เราได้สร้างไว้ก่อนหน้านี้

หลังจากนี้ เราก็จะสามารถควบคุมการเปิดปิดรีเลย์ได้ด้วย openHAB แล้วครับ โดยผมลองเอา Lamp1 ที่สร้าง มาไว้ที่หน้าแรกหรือหน้า overview เลยครับ

ขั้นตอนสุดท้าย ก็คือ ลองลงแอพบนมือถือดู ก็หน้าตาก็เหมือนๆกันบนเว็บแหละครับไม่มีอะไรมาก

นี่เป็นเพียงแค่การทดลองใช้งาน openHAB และ tasmota ครั้งแรก ยังมีรายละเอียดอีกมากมายให้ลองเล่นและศึกษาใช้งานดูครับ

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องของ security ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ว่าเราจะกำหนดหรือใช้งาน openHAB ได้อย่างปลอดภัยได้อย่างไร เดี๋ยวมาว่ากันต่อในตอนถัดไปครับ

ว่าด้วยเรื่องของ thermal printer

ไม่ได้เขียนลงที่นี่ซะนานเลย เนื่องด้วยเพราะเวลาเขียนอะไรสั้นๆ หรือแนะนำสินค้า ตอนนี้มีหน้าเพจ iot e-shop ด้วย ก็เลยไปโพสลงในนั้น รวมถึงถ้าเกี่ยวข้องกับ kiosk ก็ยังมีเพจ bangkokdev ให้ลงอีกด้วย

ตั้งแต่ตั้งใจมาทำตู้ kiosk ขาย สิ่งหนึ่งที่พยายามหาโซลูชั่นมาตลอดนั่นก็คือเรื่องของ thermal printer โจทย์เรื่องนี้นั้นแยกย่อย ไปได้หลายประเด็น คือ
1. ใช้งานอยู่บนระบบปฎิบัติการอะไร Windows, Linux, Android รวมถึง สถาปัตยกรรม CPU อะไร x86 หรือ ARM
2. รองรับภาษาไทย
3. interface port ที่ต้องการใช้ USB หรือ Serial port
4. ใช้งานผ่าน driver (หมายถึงเราต้องลงหรือทำการ install driver ปรินเตอร์จากผู้ผลิตก่อนใช้งาน) หรือ ESC/POS command
5. ราคา

ถ้าไม่ต้องคำนึงถึง ข้อ 5. มีงบเหลือๆ ใช้ EPSON หรือยี่ห้ออื่นๆ ที่รองรับภาษาไทยได้ดี ทั้ง ESC/POS และ driver ก็จบได้เลย
แต่ถ้าคิดว่า คุณต้องการทำตู้บัตรคิว ที่สามารถพิมพ์บัตรคิวหรือสลิปขนาดหน้ากระดาษกว้าง 58 มม. มีการพิมพ์ไม่กี่คำ ไม่กี่บรรทัด รูปแบบตายตัว มีปรินท์เตอร์สำหรับตู้คีออสที่ราคาถูกกว่ากันหลายพันบาทเมื่อเทียบกับระดับ EPSON สักตัวนึง ถ้าคุณสามารถทำให้มันรองรับงานได้ ก็ลดต้นทุนไปได้ ทั้งในระยะเริ่มต้นและการบำรุงรักษา
ข้อจำกัดที่ปรินท์เตอร์จีนราคาถูก ไม่สามารถทำได้ดี คือ ข้อ 2 การพิมพ์ภาษาไทย บวกกับข้อ 4 คือในกรณี ที่ใช้ ESC/POS นั่นเอง เนื่องจากภาษาไทยมีการพิมพ์ 3 แถวสำหรับ 1 บรรทัด เพราะมีทั้ง สระ และวรรณยุกต์ ถึงแม้ว่า ตัวปรินท์เตอร์จะฝังฟ้อนท์ไทยมาให้ แต่ตัวเฟิร์มแวร์ ไม่ได้รองรับ เราจึงต้องเขียนโปรแกรมเพื่อแก้ไขปัญหานี้เอาเอง

ถ้าว่ากันในเรื่อง software และ programming ก็จะเกี่ยวข้องกับ ข้อ 3 และ 4 โดยเฉพาะบน Linux และการใช้งาน printer ที่เป็น USB interface
หลายคนเขียนระบบคิวแบบ web app และใช้โมดูล escpos-php ในการติดต่อกับปรินท์เตอร์ โดยเบื้องหลังนั้น ถ้าใช้ USB printer บน windows นั้น เป็นการเขียนคำสั่งลงบน mapped file โดยเราต้องทำการ share printer ก่อนจึงจะใช้งานได้ ส่วนบน Linux นั้นใช้ CUPS command line ในการพิมพ์

แล้วถ้าเป็น C++ ละ ผมเคยนั่งเขียนโค้ดด้วย Qt/C++ โดยใช้ escpos-php เป็นไกด์ไลน์ เพื่อใช้กับ printer ผ่านทาง serial port
แต่สำหรับ USB printer บน Linux ผมนั่งหาในกูเกิ้ล จนเจอ escpospp เมื่อลองศึกษาดูโค้ดแล้ว ก็พบว่า ใช้การเขียนข้อมูลไปที่ printer โดยใช้ libusb อาจจะเรียกได้ว่าเป็น user mode driver ก็ได้ครับ นอกจากนั้นยังมีโปรเจ็ค QtUSB ที่ทำให้สามารถใช้งาน libUSB บน Qt ได้ ทำนองเดียวกันกับ QtSerialport
สำหรับการใช้งาน libUSB จำเป็นต้องรู้จัก USB device ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง เช่น interface, endpoint เพื่อให้สามารถระบุปรินท์เตอร์ที่เราต้องการเชื่อมต่อได้ รวมถึงวิธีการหรือฟังก์ชั่นในส่งข้อมูลให้กับ device (ในกรณีส่ง ESC/POS command เห็นใช้ bulk transfer กัน)

สุดท้าย ถ้าต้องการจะพิมพ์ด้วยฟ้อนท์ไทยสวยๆ หลากหลายแบบและขนาด ก็คงต้องเขียนโปรแกรมสั่งพิมพ์ผ่าน driver เอา อย่างเช่นใน Qt ก็มีโมดูล QPrinter ให้ใช้ครับ